เมื่อ » 2017-05-19 15:16:04 (IP : , ,183.89.208.2 ,, Admin)
Admin Edit : 2017-05-19 15:22:06
เพื่อเป็นการไว้อาลัยอาจารย์ชินกร ไกรลาศ เป็นครั้งสุดท้าย
วันนี้นำประวัติและภาพเก่าของท่านมาให้ได้อ่านได้ชมกัน ส่วนท่านใดว่าง
วันนี้ 19 พ.ค.60 ไปร่วมรดน้ำศพกันนะครับ ที่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน
ศาลา 1 เวลา 16.00 น. น้ำหลวงอาบศพจะไปถึงเวลา 17.00 น. หลังจาก
นั้นร่วมฟังสวดพระอภิธรรมกัน ซึ่งเจ้าภาพกำหนดสวนพระอภิธรรม 7 คืน
ตั้งแต่คืนวันที่ 19 - 25 พ.ค.60 หลังจากนั้นจะเก็บศพไว้ 100 วัน
เพื่อรอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
ชินกร ไกรลาศ ชื่อจริง “ชิน ฝ้ายเทศ” เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2489
ที่ตำบลไกรนอก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย พ่อชื่อ ฉาย
แม่ชื่อ ไทย ฝ้ายเทศ มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นคนสุดท้อง ดังนี้.-
๑. นายโฉม ฝ้ายเทศ
๒. นางฉุย ลิ้มรส
๓. นายเชื่อม ฝ้ายเทศ
๔. นายทับทิม น่วมเจริญ
๕. นายประทวน ฝ้ายเทศ
๖. นายบุญเทียม ฝ้ายเทศ
๗. นายบุญธรรม ฝ้ายเทศ
๘. นายชิน ฝ้ายเทศ (ชินกร ไกรลาศ)
จบการศึกษาชั้น ป.4 ที่โรงเรียนวัดคุ้งยาง (ต่อมาได้รับปริญญา
ดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทลัย
ราชภัฎธนบุรี, ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย
รามคำแหง) เมื่อจบ ป.4 ก็ไม่ได้เรียนต่อ เนื่อง จากทางบ้านยากจน
จึงได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดปรักรัก 1 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2501
สอบได้นักธรรมชั้นตรี
เนื่องจากมีพรสวรรค์ในการร้องเพลง ชอบการร้องเพลงเชียร์รำวงมา
ตั้งแต่เด็ก ในปี พ.ศ.2503 ก็เที่ยวตระเวนไปกับกองเชียร์รำวง
ชื่อคณะ “สีไพร” มีรายได้คืนละ 15 – 20 บาท การร้องเพลงเชียร์
รำวงของเขาสร้างความประทับใจให้กับคนดูไปทั่วย่านสุโขทัย
เส้นทางเข้าสู่วงการเพลง ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2503 วงดนตรีของ
“พยงค์ มุกดา” ไปเปิดทำการแสดงที่ “วิกเจริญผล” จังหวัดสุโขทัย
เขากับเพื่อนที่ชื่อ “ประคอง สินจันทร์” ก็ได้ไปนั่งชมการแสดงด้วย
พอดนตรีเลิก ทั้งคู่จึงตัดสินใจเสี่ยงโชคชะตาไปสมัครเป็นนักร้อง
กับครูพยงค์ ครูพยงค์ให้ทดลองร้องเพลงฟัง พอร้องจบครูพยงค์ก็รับ
“ประคอง” ไว้คนเดียว ประคองติดตามครูพยงค์เข้ากรุงเทพฯ
เพื่อเป็นนักร้องตั้งแต่วันนั้น ต่อมาครูพยงค์ตั้งชื่อการเป็นนักร้องให้กับ
ประคอง” ว่า “ทิว สุโขทัย” ได้ร้องเพลงบันทึกเสียงโด่งดังหลายเพลง
เช่น เพื่อนใจนักเพลง, ง้อเพาะรัก, คิดถึงพี่ไหม, ดาวเหนือ, ดาวตลุงฯลฯ
พอตัวเองมีชื่อเสียงทิวก็ไม่ละความพยายามที่ช่วยเพื่อนให้ได้เป็นนักร้อง
คอยพูดกับครูพยงค์อยู่ตลอด จนเมื่อปี พ.ศ.2506 ความฝันก็เป็นความจริง
ครูพยงค์รับเข้ามาเป็นนักร้องประจำวง เจ้าตัวจำได้แม่นยำว่า
วันที่เข้ากรุงเทพฯ มาอยู่กับวงครูพยงค์ คือวันที่ 15 พ.ค.2506
ท่ามกลางความดีใจที่รอคอยมานาน
เข้ามาอยู่วงใหม่ ๆ ก็ช่วยทำงานสารพัด ตั้งแต่งานบ้านยันงานแบกของ
ไปกับวง อดทนทำงานรับใช้หัวหน้าอยู่นานนับปี พอถึงปี พ.ศ.2507
ก็มีโอกาสได้บันทึกเสียงเพลงแรก ในเพลง “ลูกทุ่งรำลึก” เป็นเพลงแนว
สากลปนลิเก ผลงานการประพันธ์ของ “ค. อัศวราช” (สมคิด อัศวราช)
ครูพยงค์ มุกดา และครูประดิษฐ์ อุตถะมัง ร่วมกันตั้งชื่อให้ว่า
“ชินกร ไกรลาศ” แต่ยังไม่ดัง ต่อมาก็ได้บันทึกเสียงเพลง
“ทุ่งร้างนางลืม” แต่งโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ และ ฉลอง การะเกด ก็ยังเงียบ
ในปี พ.ศ.2509 นายโฉม ฝ้ายเทศ พี่ชายคนโต ออกเงินให้ 3,500
สมทบกับเงินของชินกรที่เก็บหอมรอมริบไว้อีกจำนวนหนึ่ง ไปซื้อเพลง
จากครูประดิษฐ์ อุตถะมัง มาร้องบันทึกเสียง มีเพลง “น้ำตาใจ”
ชินกรร้องเอง เพลง “อาบน้ำตา” ให้ “ผ่องศรี วรนุช” ร้องแก้ ปรากฏว่า
คนเริ่มรู้จักชื่อ “ชินกร ไกรลาศ” ต่อมาได้บันทึกเสียงเพลงของ
ครูประดิษฐ์อีก 2 เพลง คือ “เพชฌฆาตใจ” และให้ผ่องศรี วรนุช
ร้องแก้ในเพลง “ใจเพชฌฆาต” ปรากฏว่าเพลง “เพชฌฆาตใจ” ดังมาก
หลังจากนั้นได้ร้องเพลงบันทึกเสียงออกมาเรื่อย ๆ จากหลายครูเพลง
เช่น คนใจน้อย, สั่งน้อง, สั่งรักสุโขทัย รวมถึงเพลงของครู
“ดอย อินทนนท์” ที่เข้ามาเป็นนักแต่งเพลงหน้าใหม่ประจำวง
ดนตรีของครูพยงค์ มุกดา ภายใต้ชื่อ “สรบุศย์ สมพันธ์” อีก 4 – 5 เพลง
เช่น พอทีนครสวรรค์, หนุ่มอีสาน, กระท่อมสาวเมิน, เสน่ห์สาวชล
แต่เพลงเหล่านี้ยังไม่ดัง
ชินกร ไกรลาศ มาโด่งดังสุด ๆ ในปี พ.ศ.2511 เมื่อได้ร้องเพลง
“ยอยศพระลอ” ซึ่งแต่งร่วมระหว่างครูพยงค์ มุกดา และ
ไถง สุวรรณทัต เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “พระลอ”
ที่จริงแล้วเพลงนี้ ครูพยงค์ตั้งใจจะให้ ทิว สุโขทัย เป็นผู้ร้อง
แต่ไถง สุวรรณทัต ในฐานะเจ้าของภาพยนตร์ บอกว่าต้องการให้
ชินกร ไกรลาศ ร้อง ครูพยงค์ก็ยอม เพลงอื่นที่ครูพยงค์ มุกดา
แต่งให้ชินกร ไกรลาศ ร้อง เช่น ลูกทุ่งเสี่ยงเทียน, วอนสวาท,
น้ำตาคนจน, ชีวิตนาวี, บ้านในฝัน อยู่กับครูพยงค์ มุกดา ประมาณ 5 ปี
ก็ลาออก ไปอยู่วงของ “บรรจบ เจริญพร” เมื่อปลายปี พ.ศ.2511
หลังจากเพลง “ยอยศพระลอ” ดัง ต่อมาได้ร้องเพลงของ
ครูไพบูลย์ บุตรขัน อีกหลายเพลง เช่น “เพชรร่วงในสลัม”
“บ้านไร่นารัก” ฯลฯ
ชินกร ไกรลาศ ได้แสดงและร้องเพลงประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น
“พระลอ” ของ ไถง สุวรรณทัต มิตร - เพชรา ปี 2511
“ชาติลำชี” ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ มิตร - เพชรา ปี 2512
”กิ่งแก้ว” ของ ชาลี อินทรวิจิตร มิตร- สุทิศา พัฒนุช ปี 2513
“ไอ้ทุย” ของ ดอกดิน กัญญามาลย์ สมบัติ – เพชรา ปี 2514
เมื่อเก็บเงินทองได้พอสมควร จึงออกมาตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง
เดินสายรับใช้แฟนเพลงทั่วประเทศ เป็นวงดนตรีลูกทุ่งมาตรฐานที่
แฟนเพลงให้การต้อนรับทุกสถานที่ที่ไปทำการแสดงเกียรติยศอันสูงยิ่ง
ที่เจ้าตัวปลื้มใจตลอดชีวิตการเป็นนักร้อง คือ การชนะเลิศการประชัน
วงดนตรีลูกทุ่ง ในงาน “วชิราวุธนุสรณ์” ที่วังสราญรมย์ เมื่อปี พ.ศ.2513
วันหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2514 “ชินกร ไกรลาศ” ได้รับการติดต่อจากนาง
“ละออ สิทธิประภา” เศรษฐีที่ดินของจังหวัดพิษณุโลก ให้ไปทำขวัญนาค
บุตรชาย ชื่อ ร.ต.สุกิจ สิทธิประภา ที่จังหวัดพิษณุโลก และ
แสดงดนตรีฉลองตอนกลางคืนด้วย และ ณ ที่นั้นเอง เขาได้พบรักกับ
หญิงสาวคนหนึ่งที่เพียบพร้อมไปด้วยความงาม เธอเป็นบุตรสาวของ
เจ้าของงาน ชื่อ “สุชาดา (แดง) สิทธิประภา” ความรักของทั้ง 2 ได้พัฒนา
ขึ้นตามลำดับ จนนำไปสู่การหมั้นหมายเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2516 โดย
ครูพยงค์ มุกดา เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว และคุณเยียน โพธิสุวรรณ
เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นทั้ง 2 ก็ได้เข้าสู่ประตูวิวาห์อย่างสมเกียรติ
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2516 ท่ามกลางผู้หลักผู้ใหญ่และเพื่อนฝูง
ในวงการเพลงคับคั่ง ทั้ง 2 ครองรักกันมาจนวาระสุดท้ายของชีวิต
มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 3 คน (ชาย 1 หญิง 2) ดังนี้.-
1. นายขจร ไกรลาศ
2. นางสาวสุมาลี ไกรลาศ
3. นางสาวรุ่งรัศมี ไกรลาศ
ชินกร ไกรลาศ นอกจากมีมีความสามารในการร้องเพลงลูกทุ่งแล้ว
เขายังมีความสามารถร้องเพลงพื้นบ้านได้หลายแนว เช่นเพลงฉ่อย
เพลงเรือ เพลงอีแซว ลำตัด และทำขวัญนาคได้ด้วย จากความสามารถ
ของเขา ทำให้ได้รับรางวัลมากมาย ่
รางวัลเกีรยติยศที่เคยได้รับ
-ชนะเลิศการประกวดดนตรีลูกทุ่งในงานวชิราวุธานุสรณ์ เมื่อปี 2513
-ได้รับรางวัลแผ่นเสียงพระราชทานจากการขับร้องในเพลง
ยอยศพระลอ เมื่อปี 2514
-ได้รับโล่รางวัลนักร้องลูกทุ่งดีเด่น งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย
ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2532 จำนวน 2 รางวัล จากเพลง “บ้านไร่น่ารัก” และ
“เพชรร่วงในสลัม” ผลงานของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน
-ได้รับโล่รางวัลนักร้องลูกทุ่งดีเด่น งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย
ครั้งที่ 2 พ.ศ.2534 จำนวน 1 รางวัล จากเพลง “ยอยศพระลอ”
ผลงาน พยงค์ มุกดา+ไถง สุวรรณทัต
-ได้รับรางวัลพระราชทานนักร้องเพลงไทยผู้ออกเสียงภาษาไทยถูกต้อง
จาก ม.มหิดล
-ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมฯ
ปี 2537
-ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ในปี
พ.ศ.2542
ชินกร ไกรลาศ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 พ.ค.60 เวลา 10.44 น.
(ตามใบแพทย์) ที่ รพ.ศิริราช ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต
หลังจากที่เคยเข้ารับผ่่าตัด้โรคมะเร็งลำไส้ และเข้า-ออกโรงพยาบาล
ศิริราชเพื่อรักษาตัวมาก่อนหน้านั้นแล้วปีกว่า ๆ
นับเป็นการสูญเสียบุคลากรสำคัญของวงการลูกทุ่งอีกครั้งหนึ่ง
ขอให้ดวงวิญญาณของครูจงไปสู่สุคติ
ที่มา : Facebook สัมพันธ์ พัทลุง
|